วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยปี 68 โต 2.9% ใช้จ่ายภาครัฐ-ท่องเที่ยวหนุน

06 มกราคม 2568
วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยปี 68 โต 2.9% ใช้จ่ายภาครัฐ-ท่องเที่ยวหนุน

วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยปี 68 โต 2.9% ใช้จ่ายภาครัฐ-ท่องเที่ยวหนุน ชี้ความเสี่ยงและความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายในและภายนอกยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม

ดร. พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจาก 3.0% ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ เช่น การแจกเงิน 10,000 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบางราว 14 ล้านคน รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น

นอกจากนี้ ฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนยังช่วยเสริมให้การเติบโตในไตรมาสนี้เด่นชัดยิ่งขึ้น ล่าสุดวิจัยกรุงศรีจึงปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2567 เป็น 2.7% จากเดิมที่คาดไว้ 2.4%

สำหรับปี 2568 วิจัยกรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตรา 2.9% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ประกอบด้วย

การใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งขึ้น ตามการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ซึ่งขาดดุลงบประมาณสูงถึง 4.5% ของ GDP และการจัดสรรงบลงทุนสูงถึง 0.91 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.5% จากปีงบประมาณก่อนหน้า ช่วยสนับสนุนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ 40 ล้านคนในปี 2568 จาก 35.6 ล้านคนในปี 2567 ปัจจัยหนุนมาจากแรงส่งด้านความต้องการเดินทางต่างประเทศ ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และอานิสงส์จากมาตรการวีซ่าฟรี

การลงทุนโดยรวม คาดว่าจะเติบโตในระดับปานกลาง โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการเร่งลงทุนของภาครัฐ ในขณะที่การเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะพลิกเป็นบวกเล็กน้อย ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมหลัก

การส่งออก มีแนวโน้มขยายตัว 2.7% ในปี 2568 แม้จะชะลอลงบ้างจากปี 2567 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.9% ปี 2567 ท่ามกลางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทรงตัว ความตึงเครียดทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตในประเทศ

การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (GDP growth) ท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2567 สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 2.00% ในไตรมาส 1 ปี 2568 เพื่อบรรเทาความตึงตัวของภาวะทางการเงินและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2568 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1% ซึ่งใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมายของทางการ แม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2567 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำและเอื้อให้กนง.สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้บ้าง

"ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากปี 2567 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงและความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายในและภายนอกยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม เช่น ความตึงเครียดทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การทะลักเข้าของสินค้านำเข้าจากจีน ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งแรกของปี รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงซึ่งจะยังคงกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม"


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.